เพราะมนุษย์สัมพันธ์กับธรรมชาติ

7 มิ.ย. 2560 |
 
                     ตลอดระยะเวลาแห่งการพัฒนาการของมนุษย์จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ต้นทุนที่สำคัญแห่งการสร้างกระบวนการพัฒนาการนั้นคือ ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ถูกใช้มาเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการต่างๆ ที่มากมายในการตอบสนองวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งส่งผลทำให้มนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์เดียวที่มีอำนาจในการครอบครองและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเหนือกว่าทุกเผ่าพันธุ์ของสรรพชีวิตที่อาศัยออยู่ร่วมกับมนุษย์บนโลกสีน้ำเงินใบนี้
                     จากการสะสมองค์ความรู้และพัฒนาวิทยาการต่างๆ อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้มนุษย์ได้ขยายเผ่าพันธุ์ของตนเองจนในปัจจุบันมีจำนวนประชากรกว่า 7,000 ล้านคน เมื่อประชากรมนุษย์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติย่อมเป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ส่งผลทำให้ขีดความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศ หรือ ระบบสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยแห่งการสร้างทรัพยากรธรรมชาติกำลังเสียความสมดุล กลไกการควบคุมตามธรรมชาติจะเสื่อมสภาพลง และจะส่งผลกลับมาตอบสนองมนุษย์ด้วยวิกฤตการณ์และภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ หากมนุษย์ยังคงดำเนินวิถีการดำรงชีวิตตามรูปแบบเดิมเหมือนดังที่ผ่านมา
                   ในสถานการณ์ปัจจุบันสังคมโลกได้ปรากฎหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นที่ยอมรับว่า ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) จำนวน 6 ชนิด[1] ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ซึ่งก๊าซเหล่านี้ที่สะสมในชั้นบรรยากาศคือสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) จนส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)[2] ซึ่งจะเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบสูงสุดที่สังคมโลกได้เคยเผชิญมา
 

                    ดังนั้นตามมาตราที่ 2 กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) จึงได้กำหนดเป้าหมายสูงสุดของอนุสัญญา เพื่อบรรลุการรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้มีค่าคงที่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดการรบกวนโดยมนุษย์ที่เป็นอันตรายต่อระบบภูมิอากาศโลก โดยมีข้อยอมรับร่วมกันในการพยายามรักษาอุณหภูมิอากาศไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิอ้างอิงเมื่อก่อนเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม[3]
                   แต่อย่างไรก็ตาม จากรายงานโลกร้อน IPCC AR5 (The IPCC Fifth Assessment Report: AR5) โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change :IPCC) กลับพบว่า ในปัจจุบันโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นอยู่ที่ 0.85 องศาเซลเซียสนับจากช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม[4] ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทยที่พบว่า ในปี พ.ศ. 2558 มีอุณหภูมิเฉลี่ย 27.9 องศาเซลเซียส สูงกว่าปีพ.ศ. 2557 ประมาณ 0.6 องศาเซลเซียส[5]    
 
   
 
 
                 หากอุณภูมิสูงขึ้นจนเกินขีดความสามารถของการรองรับของระบบนิเวศ ผลกระทบที่ตามมาอาจจะมากเกินกว่าการใช้วิทยาการใดๆ ของมนุษย์ที่จะแก้ไขได้อีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม: เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นจะทำให้เกิดภัยพิบัติจากธรรมชาติมากขึ้น เช่น ฤดูหนาวสั้นลง ฤดูร้อนยาวนานขึ้น การเพิ่มของระดับน้ำทะเล การเกิดปะการังฟอกขาว และฝนไม่ตกตามฤดูกาล เป็นต้น
  • ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ: เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะมีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งเกษตรกรจะเผชิญปัญหาทางด้านเศรษฐกิจจากผลกระทบที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณลดลง
  • ผลกระทบด้านสังคม: เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นผู้คนจะเริ่มอพยพย้ายถิ่นฐาน เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยในการดำรงชีวิต ซึ่งจะทำให้เมืองใหญ่เป็นที่รองรับของการอพยพย้ายถิ่นฐาน ปัญหาการช่วงชิงทรัพยากร หรือ โอกาสต่างๆ จะตามมาจนเกิดเป็นปัญหาทางด้านสังคม
  • ผลกระทบด้านสุขภาพ: เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะมีความสัมพันธ์ต่อสัตว์พาหนะนำโรคต่างๆ ที่จะมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้แข็งแรงขึ้น ส่งผลทำให้เกิดโรคระบาด และการเกิดโรคอุบัติซ้ำ
               ในปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือพันธกิจของโลกที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดังจะเห็นได้จากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Paris Agreement) ที่ประเทศต่างๆ ได้บรรลุข้อตกลงที่จะร่วมกันดำเนินการดังต่อไปนี้[6]
  1. รักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิในช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และ พยายามจำกัดให้อุณภูมิโลกต่ำกว่านั้นถึงประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส
  2. จำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ให้อยู่ในระดับเดียวกับที่ต้นไม้ ดิน และมหาสมุทรสามารถดูดซับได้ โดยจะเริ่มในช่วงเวลาระหว่างปี 2050 และ 2100
  3. ทบทวนความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศทุกๆ 5 ปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดความพยายามลดโลกร้อนมากยิ่งขึ้น
  4. ส่งเสริมให้ประเทศร่ำรวยช่วยเหลือประเทศที่ฐานะด้อยกว่าได้ ผ่านเงินทุนสนับสนุนด้านภูมิอากาศ เพื่อให้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศได้ และหันไปใช้พลังงานทดแทน
                 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ ดังนั้นกลไกการรับมือที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควรที่จะเริ่มต้นทั้งระดับบุคลและระดับกลุ่มองค์กร เพื่อเป็นการหนุนเสริมกลไกในระดับนโยบายภายในของแต่ละประเทศจนถึงระดับระหว่างประเทศ โดยกลไกดังกล่าวคือ
  1. การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ
  2. การบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ประกอบด้วย
  • การเกษตรกรรม: การทำเกษตรผสมผสานเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน รวมไปถึงเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ การใช้ปุ๋ยชีวภาพ การใช้พืชสมุนไพร หรือจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการป้งกันโรคและแมลงศัตรูพืช เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการตกค้างของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
 
  • การจัดการน้ำ: การสำรวจพื้นที่แหล่งน้ำ ปริมาณน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรอง จัดระบบชลประทาน ที่รองรับต่อปริมาณน้ำมากในฤดูฝน และการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง
  • การจัดการป่าไม้: การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไม้ ลดการตัดไม้ เผาพื้นที่ป่าไม้ อันนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของก๊าชเรือนกระจก และสนับสนุนการส่งเสริมการดูแลฟื้นฟูป่าไม้ ทั้งในแง่ของการปฏิบัติและการให้ความรู้ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของประโยชน์จากป่าไม้
  • การจัดการขยะ: การลดการใช้ถุงพลาสติก ดำเนินการคัดแยกขยะภายในครัวเรือน การศึกษาและพัฒนาการวางระบบการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยี เช่น การนำขยะที่คัดแยกได้เพื่อหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ การแปรรูปขยะ การผลิตพลังงานชีวภาพจากขยะ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการกำจัดขยะ หรือการรณรงค์ใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่ย่อยสลายง่ายเพื่อให้ง่ายต่อการกำจัด
  • การจัดการพลังงาน: การร่วมสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานลม พลังงานน้ำ ทดแทนพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป และการปรับเปลี่ยนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ หรือ การใช้จักรยาน 
                        หากจะถามว่าอะไรจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้ คำตอบที่น่าจะเป็นแนวทางการแก้ไขคือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ และการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนให้เป็นพลังงานหลักของทุกประเทศ รวมถึงการจัดการขยะไม่ให้ส่งผลต่อการตกค้างสู่สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ และที่สำคัญที่สุดมนุษย์ควรที่จะสร้างความสัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยการอ่อนน้อมต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติ (Connecting People to Nature)
                        เมื่อมนุษย์และธรรมชาติหลอมรวมเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ย่อมจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการเกื้อกูลต่อสรรพชีวิตมากมายที่อาศัยอยู่ร่วมกันบนโลกสีน้ำเงินใบนี้ และในท้ายที่สุดการป้องกันอุณหภูมิโลกที่ไม่ให้สูงถึง 2 องศาเซลเซียสจะไม่เป็นเพียงแค่ความหวังอีกต่อไป

ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ (Anthropogenic greenhouse gas emission) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N20) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6). ชนิดของก๊าซเรือนกระจก. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.tgo.or.th/2015/thai/content.php?s1=7&s2=16&sub3=sub3
 Climate Change หมายถึง การเปลี่ยนแปลงใดๆ ของภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทําของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม อันทําให้ส่วนประกอบของบรรยากาศ โลกเปลี่ยนแปลงไป นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในช่วงเวลาเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกิด จากก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ก๊าชเรือนกระจกมีคุณสมบัติในการดูดกลืนความร้อน ทําให้ความ ร้อนไม่สามารถระบายออกไปนอก บรรยากาศโลกได้ทําให้โลกร้อนขึ้นจากปรากฏการณ์เรือนกระจก ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ. อำนาจ ชิดไธสง.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย เล่มที่ 2 แบบจำลองสภาพภูมิอากาศ และสภาพภูมิอากาศในอนาคต. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2553.
ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล. ชวน "ปฏิวัติอุตสาหกรรม" อีกรอบทางออกเดียวชะลอโลกร้อน. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.tgo.or.th/2015/thai/news_detail.php?id=807
IPCC Fifth Assessment Report. Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC). 2014
[5] สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. ข้อมูลตัวชี้วัด “อุณหภูมิเฉลี่ยรายปี”. สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.onep.go.th/env_data/2016/01_70/
[6] บีบีซีไทย.เจาะเนื้อหาข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.bbc.com/thai/international-40129206
[7] เครดิตภาพ : เริงชัย คงเมือง